แนวทางในการแสดงละครสร้างสรรค์
การวางแผนงานทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบฉาก การสร้างฉาก และการประกอบฉากเข้าเป็นรูปทรงตามที่ออกแบบไว้ รวมถึงการออกแบบเสื้อผ้านักแสดง การจัดแสง เสียง และเทคนิคพิเศษต่างๆ มีองค์ประกอบหลายประการที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อรูปแบบโครงสร้างและการประกอบงานด้านเทคนิคในละครแต่ละเรื่อง องค์ประกอบต่างๆเหล่านี้มีปรากฏให้เห็นทุกยุคสมัยในประวัติของการละครจนถึงปัจจุบัน
ในการผลิตละคร มีการนำศิลปะแขนงต่างๆ มาใช้ประกอบงานผลิตโดยมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ด้วยการประสานงานกันอย่างดีของฝ่ายงานต่างๆ การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมและการร่วมมือกันประกอบงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายที่ผู้กำกับการแสดงได้วางไว้ ซึ่งนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พื้นฐานการสร้างฉากยังคงมีวิธีการเช่นเดียวกันกับการผลิตละครอย่างไม่เปลี่ยนแปลง โครงสร้างฉาก เครื่องประกอบฉาก เครื่องกลไกต่างๆ ที่ใช้ประกอบงานบนเวที รวมถึงแสง เสียง และผลลัพธ์ของสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบพื้นฐานที่มีบทบาทต่อการแสดงเป็นอย่างมากและอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน องค์ประกอบต่างๆเหล่านั้นมีรายละเอียดดังนี้ คือ
ฉาก
การใช้ฉากเบื้องหลังขนาดใหญ่ที่วาดเป็นภาพสีสันสวยงามหรือเป็นภาพบรรยากาศต่างๆ มีมาตั้งแต่สมัยโซโฟคลีส และในการแสดงละครสุขนาฏกรรม ของอริสโตเฟนิส ก็ได้มีการใช้เครื่องประกอบฉากร่วมกันแผงทาสีเป็นชิ้นๆประกอบในการแสดง อีกทั้งยังมีการใช้หน้าต่างและระเบียง ซึ่งอยู่ด้านหน้าของอาคารที่สามารถปิดเปิดบานได้เหมือนจริง ส่วนในละครโศกนาฏกรรม ก็ได้มีการตกแต่งอาคารที่ใช้ในการแสดงด้วยเสาจริงที่สร้างขึ้นอย่างสวยงาม และในละครแบบเซเทอร์ ของโรมันก็มีความพยายามประดับตกแต่งภาพเบื้องหลังให้กลายเป็นแม่น้ำ ภูเขา หิน ต้นไม้ หรือถ้ำ เป็นต้น
ในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ได้เริ่มมีการใช้หลืบประกอบกับระบานด้านบน มีผ้าผืนใหญ่วาดและระบายสีเป็นภาพโครงสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือทำเป็นลวดลายประดับเป็นชั้นๆเรียงลึกเข้าไปด้านในของเวทีทำให้แลเห็นว่าฉากมีความลึกอย่างต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ และในสมัยต่อมาก็ยังคงมีการประดิษฐ์เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษชนิดต่างๆสำหรับการแสดงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกมากมายโดยมีอุปกรณ์แบบเก่าเป็นบรรทัดฐานของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เช่น หลืบ ซึ่งแต่เดิมเป็นผืนผ้าล้วนๆในยุคต่อมาได้มีการนำพลาสติกหรือผ้าทอเนื้อดีพิเศษผืนใหญ่ที่ไม่มีรอยต่อตะเข็บมาใช้งาน มีการทำแผงฉากเดี่ยว และยกพื้นเวที ที่ดูเป็นสามมิติ มีพื้นผิวทำด้วยวัสดุชนิดต่างๆ รวมถึงไฟเบอร์กลาสที่มีความขรุขระไม่เรียบแต่แข็งแรง เป็นต้น สิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้ได้มีการใช้งานสำหรับการแสดงอย่างต่อเนื่องเสมอมานับศตวรรษ แต่พัฒนาการทางรูปแบบการใช้งานนั้นไม่ต่างไปจากพื้นฐานเดิมที่เป็นมาในอดีต
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 งานด้านฉากละครเริ่มมีเปลี่ยนแปลงไปจากแนวเดิมบ้าง โดยได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของ อดอล์ฟ แอปเพีย ที่ว่า “ฉากที่เป็นภาพวาดสองมิติ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของศิลปินนักวาดภาพมากกว่าที่จะแสดงให้เห็นแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับละคร” ในสมัยต่อมาฉากที่วาดระบายสีเริ่มเสื่อมความนิยมลง เนื่องจากมีการสร้างฉากแบบสามมิติขึ้นมาแทนที่ ฉากแบบนี้จะให้ความสำคัญแก่เนื้อหาเรื่องราวในบทและการมีส่วนเสริมสร้างพลังความคิดให้แก่ผู้ชม เป็นการสนองความต้องการของผู้กำกับการแสดง และเอื้ออำนวยแก่การจัดแสงสมัยใหม่ที่เน้นการส่องแสงจากอุปกรณ์แสงอย่างน้อย 2 โคมต่อ 1 พื้นที่การแสดง และแต่ละโคมสามารถควบคุมระดับแสงแยกจากกันทำให้เกิดความหลากหลายในภาพที่ปรากฏต่อสายตาผู้ชม
บทบาทของฉากละครที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายทำให้เกิดแนวคิดกำหนดความหมายของฉากละครที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายทำให้เกิดแนวคิดกำหนดความหมายของฉากละครสมัยใหม่ให้มีความสำคัญมากกว่าเป็นเพียงฉากประกอบด้านหลังเพียงอย่างเดียว กล่าวคือ ฉากควรแสดงภาพแวดล้อมของตัวละคร เป็นแนวทางการเคลื่อนที่ของตัวละคร สามารถแสดงรสนิยม ฐานะความเป็นอยู่ของตัวละคร แสดงความสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างตัวละครต่างๆ สามารถแสดงกาลเวลา สถานที่ สื่อความหมาย สื่อความรู้สึกนึกคิด และสามารถถ่ายทอดปรัชญาชีวิตที่แฝงไว้ในบทละครแก่ผู้ชมได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ฉากละครรวมทั้งเสื้อผ้าของนักแสดงและเครื่องประกอบการแสดงจะต้องช่วยให้ผู้ชมเข้าใจและติดตามเรื่องราวในละครได้ดีขึ้น ช่วยสื่อสารจินตนาการของผู้กำกับการแสดงแก่ผู้ชม ช่วยให้นักแสดงมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวบนพื้นเวทีและเคลื่อนที่ไปได้อย่างมีจุดหมายของผู้เขียน เสริมสร้างบรรยากาศและอารมณ์ที่เหมาะสมแก่ละครเรื่องนั้นๆ แสดงรสนิยม อุปนิสัย อุดมการณ์และฐานะความเป็นอยู่ของตัวละครอย่างสัมฤทธิ์ผล
ในการผลิตละครจึงต้องมีผู้ออกแบบฉากที่มีความสามารถเพื่อช่วยประสานแนวความคิดกับผู้กำกับการแสดงให้ได้ภาพบรรยากาศที่เหมาะสมกับบทละคร โดยผู้ออกแบบฉากจะทำหน้าที่อ่านและตีความหมายบทละครอย่างละเอียดถี่ถ้วน ลึกซึ้ง และเป็นไปในทางเดียวกันกับที่ผู้กำกับการแสดงแลเห็น ผู้ออกแบบฉากสามารถสร้างจิตนาการโดยอาศัยข้อมูลต่างๆที่ได้จากการอ่านบทละคร ดังนี้คือ
ละครเรื่องนั้น (หมายถึงเหตุการณ์และเรื่องราว) เกิดขึ้นที่ไหน
ละครเรื่องนั้นเป็นละครประเภทใด
ละครเรื่องนั้นมีบรรยากาศเป็นแบบใด สมัยใด
แนวการนำเสนอเป็นอย่างไร
ความต้องการในการใช้พื้นที่การแสดงเป็นแบบใด
แก่นและความหมายของเรื่องเป็นอย่างไร
จุดเด่นของเรื่องและบทบาทการแสดงอยู่ที่ใด
อารมณ์และบรรยากาศของเรื่องเป็นแบบใด
ตัวละครมีจำนวนเท่าใด แต่ละคนมีรสนิยมเป็นอย่างไร และใครเป็นตัวละครสำคัญ
ลักษณะของตัวละครมีความสัมพันธ์กับฉากอย่างไร เช่น เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มาอาศัยอยู่หรือเป็นผู้มาเยี่ยมเยียน ฯลฯ
สถานที่ใช้ในการแสดงควรมีลักษณะเป็นอย่างไร
ผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่คือใคร
งบประมาณการดำเนินควรมีเท่าใด
ฯลฯ
ในการสร้างละครเวที โทรทัศน์ หรือภาพยนตร์เรื่องหนึ่งนั้น ผู้กำกับการแสดงต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งของตนเองและผู้ร่วมงานทุกฝ่ายเป็นอย่างมาก หากเป้าหมายหลักของการทุ่มเทและทุ่มทุนนี้เป็นไปเพื่อสื่อสารความคิดหลักของเรื่องที่มีประโยชน์ต่อผู้ชมมากกว่าหรือเท่าๆกับเพื่อเหตุผลทางการค้าแล้ว ละครเรื่องนั้นก็จะมีคุณค่า มีความหมาย มีความรับผิดชอบต่อสังคมและศิลปะ แม้กระทั่งในงานเชิงพาณิชย์เช่นงานโฆษณา หากผู้สร้างงานสนใจและรับผิดชอบผู้ชมในฐานะเพื่อนมนุษย์ไปพร้อมๆกับความรู้สึกรับผิดชอบต่อยอดขายของสิ้นค้าแล้ว งานโฆษณานั้นก็จะดู มีราคามากขึ้น มีความคิดเชิงสร้างสรรค์สังคม และมีรสนิยม เนื่องด้วยทุกฝ่ายที่ร่วมสร้างสรรค์มีความสนใจและรักเพื่อนมนุษย์นั่นเอง
การทำงานของผู้กำกับการแสดง
ขั้นตอนการทำงานของผู้กำกับการแสดง ได้แก่
เลือกเรื่อง อาจทำงานร่วมกับฝ่ายอำนวยการผลิต
วิเคราะห์บทตีความหมายเพื่อการกำกับการแสดง ซึ่งอาจทำงานร่วมกับผู้เขียนบท หรือ ดรามาเทิร์ก ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเชิงวิชาการของผู้กำกับการแสดง
กำหนดแนวทางในการนำเสนอ
ทำงานร่วมกับฝ่ายออกแบบต่างๆ เพื่อสร้างภาพรวมบนเวที
ทำงานร่วมกับนักแสดงในการซ้อม เชื่อมโยงนักแสดงกับตัวละคร สร้างความจริงในละคร แก้ปัญหาด้านการแสดง
ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายในการซ้อมการแสดงระยะต่างๆ พัฒนางานให้มีความเป็นเอกภาพ เพื่อให้การสื่อสารของเรื่องสัมฤทธิ์ผล
จัดแสดง สรุปงาน รับฟังความคิดเห็น คำวิจารณ์เพื่อพัฒนางานต่อไปในอนาคต
การตีความสำหรับการกำกับการแสดง
ผู้กำกับการแสดงที่ดีนั้น เมื่อเลือกเรื่องที่จะทำ ก็มักเลือกบทละครที่มีความคิดความหมายที่ตนรู้สึกได้และต้องการสื่อสารกับผู้ชม จากนั้นผู้กำกับการแสดงจะวิเคราะห์ศึกษาหาความคิดหลักของเรื่องว่าตรงกับที่ตนเชื่อหรือไม่ พัฒนามาได้อย่างไร เห็นได้จากตัวละครตัวใดเป็นหลัก การกระทำใดเป็นหลัก ผู้กำกับการแสดงต้องวิเคราะห์ศึกษาตัวละคร การกระทำ การตัดสินใจ เหตุผลเบื้องหลังการกระทำ ความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน และต่อเรื่อง ต้องศึกษาว่าละครเริ่มต้น พัฒนาปัญหา จนถึงจุดวิกฤติ จุดสูงสุด และจุดคลี่คลายได้อย่างไร ต้องค้นหาว่า น้ำเสียง ของละครเรื่องนี้เป็นเชิงถาม หรือสอน หรือบอก หรือเหน็บแนม หรือกระตุ้นให้คิด หรือให้ปลง ในเรื่องใด อย่างไร เมื่อวิเคราะห์บทละครแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการตีความเพื่อกำกับการแสดง
การตีความหมายบทละคร เพื่อการกำกับการแสดง คือการตีความหมายคำพูดและคำบรรยายในบทละครให้เป็นการกระทำของตัวละครที่เป็นจริงและเข้าใจได้รู้สึกได้ทั้งกับนักแสดงและผู้ชม เป็นการค้นหาว่าตัวละครทำอะไร เพื่ออะไร กับใคร เป้าหมายคืออะไร อุปสรรคคืออะไร ความสัมฤทธิผลหรือความล้มเหลวของตัวละครนั้นมีผลต่อความหมายของเรื่องอย่างไร และสำคัญที่สุด การกระทำทั้งหลายในเรื่องของตัวละครเทียบเคียงหรือมีความหมายว่าอย่างไรในชีวิตจริง ในสังคมที่ผู้ชมละครนั้นๆดำรงชีวิตอยู่ ผู้กำกับการแสดงของนักแสดง และสร้างภาพรวมบนเวที ร่วมกับนักออกแบบ
การคัดเลือกนักแสดง
ในการเลือกนักแสดง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตัวนักแสดงให้มาทดสอบบท หรือการเปิดรับสมัครผู้ทดสอบบททั่วไปก็ตาม ผู้กำกับการแสดงควรกำหนดไว้ในใจว่าเป็นการค้นหาบุคคลเพื่อพัฒนาความเป็นไปได้ของนักแสดงผู้นั้นในการสวมบทละคร ไม่ควรเลือกนักแสดงเพียงเพราะเขามีบุคลิกภาพภายนอก หรือลักษณะนิสัยตรงกับตัวละครอย่างที่เรียกว่าไทป์แคสติง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ควรจะห่างไกลจากตัวละครมากเสียจนนักแสดงขาดประสบการณ์ที่จะเทียบเคียงกับเงื่อนไขของตัวละคร แน่นอนว่านักแสดงที่ฉลาดย้อมสร้างความประทับใจให้แก่ผู้กำกับการแสดงได้ง่ายๆ ถ้าเขาสามารถเข้าใจความคิดหลักของเรื่องและตัวละครที่เขาแสดงได้อย่างทะลุปรุโปร่งและรวดเร็ว แต่ข้อสำคัญนักแสดงผู้นี้ต้องสามารถ รู้สึก เชื่อมโยง และยอมเชื่อเงื่อนไขของตัวละครมากกว่าจะถอยห่างออกมาวิเคราะห์วิจารณ์ตัวละครในฐานะบุคคลที่สาม
ไรท์ (Wright) ได้อ้างถึง คำเตือนที่คมคาย ของจอร์จ เบอร์นาร์ด ซอว์ เกี่ยวกับการเลือกนักแสดงว่า
“คุณจะต้องไม่นำการเห็นคุณค่าและความเข้าใจในบทบาทละครไปสับสนกับความสามารถที่จะเล่นบทนั้นๆ ได้”
(อ้างใน พนมาส ศิริกายะ 2525; 128)
ในวงการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มักมีทัศนคติว่าผู้กำกับการแสดงเป็นผู้ “ปั้นดารา” ความจริงแล้วการเป็นดาราที่มหาชนนิยมนั้น ถ้าจะต้องมีผู้ปั้น ก็น่าจะเป็นนายทุนสื่อมวลชนและประชาชนมากกว่า หาใช้ผู้กำกับการแสดงไม่ ผู้กำกับการแสดงอาจเลือกคนที่ดูธรรมดาๆที่เขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะแสดงเป็นตัวละครนั้นๆได้อย่างเหมาะสม โดยที่ผู้กำกับการแสดงอาจเป็นผู้ช่วยเชื่อมโยงเงื่อนไขของตัวละครให้นักแสดงคนนั้นรู้สึกได้ เชื่อได้ทำให้นักแสดงแสดงได้อย่างสมจริง น่าเชื่อ มีชีวิตชีวา มีพลัง และอยู่ในทิศทางของละครเรื่องนั้นๆ นี่ต่างหากที่เป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้กำกับการแสดงที่มีต่อนักแสดง คณะทำงาน นายทุน ผู้ชม และศิลปะการละคร
คู่มือผู้กำกับการแสดง
ก่อนที่จะไปพบกับนักแสดงและคณะทำงานฝ่ายต่างๆ เพื่อเริ่มการทำงานผู้กำกับการแสดงควรเตรียมคู่มือผู้กำกับการแสดงให้พร้อมเพื่อเป็นเครื่องมือ คู่มือนี้อาจประกอบไปด้วย
การวิเคราะห์ตีความที่ผู้กำกับการแสดงได้ทำไว้โดยละเอียด ได้แก่ ความคิดหลัก การวิเคราะห์ตัวละครหลัก ความต้องการ การกระทำ ความขัดแย้ง ฯลฯ
ข้อมูลต่างๆทั้งเอกสารและรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวละคร สังคม วัฒนธรรม การอยู่อาศัย ฯลฯ ที่จะมีส่วนช่วยในการเข้าถึงตัวละครของนักแสดง
ภาพแบบร่างของฉากและเวที และ หรือภาพแบบร่างเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
บทละคร พร้อมการตีความสั้นๆ สำหรับการแสดงในแต่ละช่วง ฉาก และ องก์ บทละครนี้อาจอยู่ที่หน้าขวาของคู่มือ ส่วนที่หน้าซ้ายจะเป็นกราวนก์ แพลน หรือ ฟลอร์แพลน อันเป็นภาพจำลองเวที เมื่อมองจากมุมบน ประกอบด้วยสัญลักษณ์ที่แสดงทางเข้าออก ประตูหน้าต่างและเครื่องประกอบการแสดงต่างๆ สำหรับให้ผู้กำกับการแสดงจดทิศทางการเคลื่อนที่ของตัวละคร/นักแสดง และบางครั้งก็รวมไปถึงกิจกรรมสำคัญๆ ที่ตัวละคร/นักแสดงกระทำด้วยบันทึกการซ้อม ถัดจากบทและกราวด์แพลนก็คือส่วนที่ผู้กำกับการแสดงจดบันทึกการซ้อมในแต่ละครั้ง อันได้แก่สิ่งที่ค้นพบร่วมกันกับนักแสดง แนวทางพัฒนา การแสดง ปัญหา และแนวทางแก้ไข คู่มือผู้กำกับการแสดงนี้ไม่ใช่พรอมพท์บุค หรือคู่มือผู้กำกับเวทีที่ใช้ เตือนบทแลทิศทางการเคลื่อนที่ของนักแสดงขณะซ้อม ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการกำหนด การซ้อมและการทำงานเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คู่มือผู้กำกับการแสดงจะเน้นในส่วนของการกำกับการแสดง เมื่อเตรียมคู่มือผู้กำกับการแสดงเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการทำงานเพื่อเชื่อมโยงตัวละครกับนักแสดง
การเตรียมตัวก่อนการแสดง
เมื่อมีคุณสมบัติของการเป็นนักแสดงที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันของการเป็นนักแสดงก็คือ การเตรียมตัวเตรียมใจก่อนการเป็นนักแสดง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มักถูกมองข้ามไปเสมอ หากพิจรณาให้ถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าเรื่องเหล่านี้มีผลกับความรู้สึกและทัศนคติของการเป็นนักแสดงอยู่มาก ประกอบด้วย การผ่อนคลายของร่างกายและจิตใจ ความเชื่อใจในคู่แสดงและกลุ่ม การยอมรับที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทัศนคติว่าการแสดงที่จริงจังตั้งอยู่บนความสนุก และความอิสระทั้งร่างกาย ความคิดและความรู้สึก
การผ่อนคลายของร่างกายและจิตใจ
การผ่อนคลายของร่างกายและจิตใจ หมายถึง นักแสดงต้องรู้จักวิธีที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจของตนเองผ่อนคลายก่อนการแสดง เพราะเมื่อร่างกายผ่อนคลายนักแสดงจะสามารถเคลื่อนไหวและมีปฏิกิริยาตอบสนองได้อย่างทันทีทันใด และเมื่อจิตใจผ่อนคลายก็จะช่วยให้นักแสดงเกิดความคิดสร้างสรรค์และการตอบสนองอย่างทันท่วงที
ความเชื่อใจในคู่แสดงและกลุ่ม
เพราะการแสดงเป็นสิ่งที่นักแสดงกระทำกับผู้อื่นและทำต่อหน้าผู้อื่น ความกังวลใจเกี่ยวกับผู้อื่นนี้สามารถกลายเป็นตัวทำลายความสามารถในการแสดงของนักแสดงได้ ซึ่งการที่จะเชื่อใจใครสักคนเป็นสิ่งที่ต้องลุกขึ้นกระทำเองไม่ใช่รอให้เกิดขึ้นมาเอง ความรู้สึกเชื่อใจนี้จะเกิดขึ้นได้จากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น รู้จักให้ แบ่งปัน และตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่นเสมอ ความรู้สึกแข่งขันเป็นสิ่งที่ต้องห้ามสำหรับนักแสดง เพราะความรู้สึกแข่งขันมักสร้างความแตกร้าวในกลุ่ม นักแสดงพึงระลึกว่าการทำงานเป็นทีมเท่านั้นจึงจะทำให้เกิดการสร้างละครที่เป็นศิลปะร่วมกันได้ เมื่อนักแสดงมีความเชื่อมั่นเชื่อใจกันและกันแล้ว เมื่อนั้นนักแสดงจึงจะกล้าที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริง ยอมที่จะทำสิ่งที่หน้าขายหน้าต่อหน้าผู้อื่น ซึ่งก็คือการปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกได้ออกมาแบ่งปันกัน ซึ่งจะเป็นหัวใจที่ทำให้ทักษะการแสดงได้รับการพัฒนา และฝึกฝน
การยอมรับที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์
ความจริงที่คำว่าวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่เจ็บปวด และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นักแสดงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ที่กล่าวว่าเจ็บปวดนั้น เพราะนักแสดงเป็นบุคคลที่จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตัวเองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเสียงดี รูปร่างดี เล่นได้ดี หรือเสียงแย่ รูปร่างแย่ เล่นได้แย่ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากบุคคลรอบตัวไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ นักวิจารณ์และผู้ชมทั่วไป ทั้งยังมีทั้งคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ อันเกิดขึ้นทั้งจากความจริงใจ เสแสร้ง หรือมีอคติ ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับนักแสดงคือ การทำใจ ให้คิดถึงข้อดีของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ นักแสดงที่ฉลาดมักไม่พยายามสนใจคำวิจารณ์นั้นในแง่ส่วนบุคคลและไม่ไปใส่ใจเสียเวลาหาคำแก้ตัว เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครสามารถตอบสนองความพอใจของทุกคนได้ โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม
การแสดงละครสร้างสรรค์แบบไม่มีบท
ดังได้ทราบแล้วว่าศิลปะการละครมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะทุกแขนงซึ่งได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะสาขาต่างๆ โดยมีผู้กำกับการแสดงเป็นผู้นำทางความคิด วางแผนงานและแนวทางในการดำเนินงานของทีมงานฝ่ายต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่การกำกับการแสดงและการแสดงที่มีนักแสดงเป็นตัวแทนนำเสนอผลงานรวมของฝ่ายงานต่างๆให้ปรากฏแก่สายตาของผู้ชมในแต่ละรอบการแสดง ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับภาพ สีสัน บรรยากาศ และเทคนิคพิเศษต่างๆ ที่รวมเรียกว่างานด้านเทคนิคประกอบการแสดงมีบทบาทสำคัญต่อการแสดงเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ผู้ชมเห็นที่มาที่ไปของเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน อย่างมีเหตุผล ทำให้ทราบและเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวละคร ชี้ให้เห็นความขัดแย้งที่ทำให้เรื่องราวดำเนินต่อไปอย่างน่าสนใจ สนุกสนาน เศร้าหมอง หรือน่าสะพรึงกลัว ฯลฯ แสดงให้เห็นบรรยากาศต่างๆตามลำดับเหตุการณ์ในท้องเรื่องงานด้านเทคนิคประกอบการแสดงมีด้วยกันหลายฝ่าย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ งานออกแบบ และงานสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง การประกอบโครงสร้าง และการติดตั้ง
การแสดงละครสร้างสรรค์แบบมีบท
งานออกแบบสำหรับละครเวทีประกอบด้วยกิจกรรมของฝ่ายงานต่างๆ ดังนี้ คือ
การออกแบบฉาก มีผู้รับผิดชอบ คือ ผู้ออกแบบฉาก
การออกแบบแสง มีผู้รับผิดชอบ คือ ผู้ออกแบบแสง
การออกแบบเครื่องแต่งกาย/การแต่งหน้า มีผู้รับผิดชอบคือ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย และ ผู้ออกแบบการแต่งหน้า
การออกแบบเครื่องประกอบการแสดงและเวที หรือบางแห่งเรียก เครื่องประกอบฉากและการแสดง มีผู้รับผิดชอบคือ ผู้ออกแบบฉากหรือหัวหน้าฝ่ายเครื่องประกอบการแสดง
การออกแบเสียงประกอบการแสดงการแต่งเพลงประกอบ มีผู้รับผิดชอบคือ ผู้ประพันธ์ดนตรี และผู้ออกแบบเสียงประกอบการแสดง
การออกแบบเทคนิคพิเศษต่างๆ ควบคุมการดำเนินงานโดย ผู้กำกับเทคนิคพิเศษ นอกจากนี้บางครั้งงานออกแบบทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้กำกับศิลป์
ส่วนงานสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง การประกอบโครงสร้างประกอบด้วยฝ่ายงานต่างๆ ที่ดำเนินงานก่อนการแสดง ระหว่างการแสดง และหลังการแสดงรอบสุดท้าย
ก่อนการแสดง
ส่วนงานสร้างสรรค์ที่ดำเนินงานก่อนการแสดงประกอบด้วยกิจกรรมของฝ่ายต่างๆ ดังนี้คือ
ควบคุมการสร้าง ประกอบโครงสร้างและการติดตั้ง ทั้งในส่วนของฉากเวทีและเครื่องประกอบฉาก ควบคุมงานโดยผู้กำกับฝ่ายเทคนิค
การสร้างฉากและเครื่องประกอบฉากโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายฉาก ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายสร้างฉาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างฉาก
ควบคุมการสร้างและตัดเย็บเสื้อผ้า ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างและตัดเย็บ
ควบคุมการติดตั้งอุปกรณ์แสงและการต่อสายพ่วงระบบ ดูแลให้คำแนะนำการปรับแสง และดูแลระบบแสง ดำเนินการโดยหัวหน้าฝ่ายแสง
การติดตั้งอุปกรณ์แสง ปรับโฟกัส เดินสายและวางสายระบบ จัดลำดับอุปกรณ์แสงและลำดับการใช้งาน ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายแสง
การติดตั้งอุปกรณ์และควบคุมเสียง ดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเสียง ภายใต้การควบคุมของผู้ออกแบบเสียง
การสร้างและจัดหาเครื่องประกอบการแสดงและเครื่องประกอบฉาก ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายดังกล่าว
การเตรียมงานด้านเทคนิคพิเศษ ดำเนินการโดยผู้กำกับฝ่ายเทคนิคและผู้กำกับฝ่ายเทคนิคพิเศษ ระหว่างการซ้อมและการแสดง
กิจกรรมด้านเทคนิคระหว่างการซ้อมและการแสดง ได้แก่
การกำกับเวที คือ การควบคุมลำดับการแสดงและลำดับของการดำเนินงานด้านเทคนิคทั้งหมดในการแสดง ควบคุมโดยผู้กำกับเวที
การเปลี่ยนฉากให้เป็นไปตามตำแหน่งและลำดับที่ผู้กำกับเวทีวางไว้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายฉาก
การควบคุมอุปกรณ์แสงให้ทำงานตามลำดับคิวแสง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายแสง
การควบคุมอุปกรณ์เสียง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเสียง
การจัดการเครื่องแต่งกายของนักแสดงให้เป็นไปตามลำกับการแสดงโดยเจ้าหน้าที่
ฝ่ายเครื่องแต่งกาย
การแต่งหน้า ดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายแต่งหน้า
การดูแลเครื่องประกอบการแสดงและเครื่องประกอบฉากให้วางอยู่ในที่ที่เหมาะสม ซึ่งนักแสดงสามารถนำไปใช้และนำกลับมาวางได้สะดวกเมื่อใช้งานเสร็จ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเครื่องประกอบการแสดงและเครื่องประกอบฉาก
การควบคุมงานเทคนิคพิเศษให้เป็นไปตามลำดับที่ได้ซ้อมและกำหนมไว้โดยผู้กำกับการแสดง ดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคพิเศษ |